หญ้าข้าวนก หรือ หญ้าพุ่มพวง(Bamyard grass)จัดเป็นวัขพืชที่สำคัญในนาข้าว เป็นวัชพืชที่คล้ายต้นข้าวมาก ทำให้ยากต่อการกำจัดด้วยมือ เพราะแยกแยะยากพบได้ทั่วไปตามพื้นที่ชื้นแฉะมีน้ำขังในช่วงหน้าฝน โดยเฉพาะในนาข้าวที่เติบโตพร้อมกับต้นข้าวแพร่กระจายได้เร็วทนต่อดินเค็มดินเปรี้ยวได้สูง
การแพร่กระจาย หญ้าข้าวนก ไม่มีหลักฐานที่ระบุถิ่นกำเนิดที่แน่นอน บ้างก็สันนิษฐานว่าเป็นพืชท้องถิ่นในเอเชียกลางหรือเอเชียตะวันออก บ้างก็ระบุว่ามีแหล่งกำเนิดในยุโรปตะวันออก แล้วแพร่กระจายมาสู่ประเทศเขตร้อนชื้น และเขตหนาว
ข้อแตกต่างหญ้าข้าวนกกับต้นข้าว 1.ระยะแรกจะแยกยาก แต่แยกได้ด้วยเยื่อกั้นน้ำบริเวณรอยต่อระหว่างใบกับกาบใบ โดยหญ้าข้าวนกจะไม่มีเยื่อนี้ส่วนต้นข้าวจะมีเยื่อกั้นน้ำ และหากฉีกกาบหุ้มดูลำต้นภายในจะพบว่าหญ้าข้าวนกจะเป็นข้อปล้องห่าง ปล้องทรงกลม เหนียว ตัดเด็ดยาก ส่วนต้นข้าวจะมีข้อสั้นๆ ลำต้นอ่อนหักเด็ดง่าย 2.หญ้าข้าวนกที่โตเต็มที่บริเวณโคนกาบหุ้มและโคนข้อจะมีสีม่วงแต้มขณะที่ต้นข้าวไม่มี 3.เมื่ออยู่ในระยะออกดอกหญ้าข้าวนกจะมีลำต้นสูงกว่าต้นข้าว ซึ่งจะชูช่อดอกสูงเด่นชัดเจนกว่าต้นข้าว และจะออกดอกก่อนต้นข้าวเสมอ 4.ใบหญ้าข้าวนกที่โตเต็มที่จะสอบแคบ และเรียวยาวมากกว่าใบต้นข้าว ประโยชน์หญ้าข้าวนก/หญ้าพุ่มพวง หญ้าข้าวนก มีลำต้นสูง ใบใหญ่ คล้ายต้นข้าวเมล็ดนำมาหว่านในแปลงก่อนเก็บเกี่ยวเป็นหญ้าเลี้ยงสัตว์ ทั้งโค กระบือ แพะ และแกะ
ข้อเสียหญ้าข้าวนก/หญ้าพุ่มพวง 1.หญ้าข้าวนก มีลักษณะลำต้นและใบคล้ายกับต้นข้าว หากดูผิวเผินจะแยกแยะออกจากต้นข้าวยาก ต้องจับดูลำปล้องเปรียบเทียบกันจึงจะแยกแยะได้ ทำให้การกำจัดด้วยมือลำบาก จนเติบโตและแย่งอาหารจากต้นข้าว ทำให้ข้าวมีลำต้น และรวงข้าวเล็ก 2.หญ้าข้าวนกจะเติบโตพร้อมกับต้นข้าว แต่ลำต้นจะแก่และเมล็ดจะร่วงลงดินก่อนเก็บเกี่ยวข้าว(ข้าวนาปี)เมล็ดที่ร่วงมีความทนต่อความแห้งแล้งได้ดีมาก และจะงอกใหม่ในฤดูปลูกข้าวต่อไปและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยหากไม่กำจัด
การป้องกันและกำจัดก่อนปลูกพืช การไถตากหน้าดินไม่สามารถทำลายเมล็ดหญ้าหรือวัชพืชได้ แต่สามารถทำลายกล้าอ่อนได้โดยปล่อยน้ำเข้าแปลงนาหรือขังน้ำจากน้ำฝนในแปลง 5-7 วัน จากนั้นปล่อยน้ำออกให้เหลือน้ำเพียงผิวแปลงแล้วทิ้งไว้ 14-20 วัน วัชพืชชนิดต่างๆจะงอกขึ้นมาพร้อมกับต้นกล้าของหญ้าข้าวนกด้วย จากนั้น ทำการไถกลบแปลงให้ลึก เพื่อทำลายกล้าหญ้าหลังจากนั้นทำการหว่านข้าวหรือปลูกพืชตามปกติ
การกำจัดด้วยสารกำจัดวัชพืช ระยะก่อนงอก ได้แก่ พาราควอต และคอนเท็คซ์(โคลมาโซล)ระยะหลังงอก ได้แก่ ไกลโฟเซต และเลกาซี
การปลูกหญ้าข้าวนก/หญ้าพุ่มพวง(หญ้าอาหารสัตว์)หญ้าข้าวนกแพร่กระจายตามธรรมชาติด้วยเมล็ด หากต้องการปลูกจะใช้วิธีหว่านเมล็ดเป็นหลัก เมล็ดสามารถงอกได้ดีในความชื้นประมาณ 75-95% จะมีอัตราการงอกที่ 80% หากมีความชื้น 50% เมล็ดจะงอก 75%
หญ้าข้าวนกในประเทศญี่ปุ่นจะงอกไดดีในช่วงอุณหภูมิ 30-35°C ส่วนเยอรมัน และสหรัฐอเมริกา จะงอกได้ดีที่อุณหภูมิ 20-30°C ทั้งนี้ ความเป็นกรดด่างของดินที่เหมาะสมในการงอก 6.8-7.0 นอกจากนั้น ค่า Eh ยังมีส่วนในการงอกของหญ้าข้าวนกเช่นกัน เช่น เมื่อดินมี ammonium nitrate จะช่วยให้เมล็ดมีอัตราการงอกสูงถึง 52%
ส่วนแสงสว่างถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นการงอกเมล็ดและปัจจัยของออกซิเจนหากมีออกซิเจนรอบเมล็ด20%จะช่วยให้อัตราการงอกได้สูงถึง99%แต่หากออกซิเจนตำว่า1%เมล็ดจะไม่งอกทั้งนี้เมล็ดหญ้าข้าวนกจะงอกได้น้อยเมื่อเมล็ดอยู่ลึกมากเพราะจะขาดออกซิเจนและมีอัตราการงอกสูงสุดที่ความลึกประมาณ 3.75 เซนติเมตร